การสูญเสียครั้งที่ 13

การเสียดินแดนครั้งที่ ๑๓



          ครั้งที่ ๑๓ รัฐกลันตัน,ตรังกานู,ไทรบุรี, ปริส ให้กับอังกฤษเมื่อ ๓๐ มีนาคม ๒๔๕๑ พื้นที่ ๘๐,๐๐๐ ตร.กม. ในสมัย ร.๕ ไทยได้ทำสัญญากับอังกฤษ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจศาลไทยที่จะบังคับคดีความผิดของคนอังกฤษในไทย

          เพียง 3 เมืองเท่านั้น คือ ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู โดยชี้แจงให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และบรรดาเสนาบดีเห็นว่า การยกดินแดนมลายูให้อังกฤษนั้น จะทำให้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับดินแดนเหล่านี้ หมดไปโดยอัตโนมัติ จริงอยู่ การเสียดินแดนถือเป็นการเสียเกียรติภูมิของชาติ แต่รัฐบาลไทย ควรจะนึกถึงความจริงที่ว่า ดินแดนเหล่านี้จะหลุดพ้น ไปจากอำนาจของไทยแน่ๆ 
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น และยิ่งนานวันไป ก็อาจจะสูญเสีย โดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนเลย สโตรเบลใช้เหตุผลธรรมดาๆ ว่าเปรียบเสมือนคนที่เป็นโรคร้ายที่แขนขา ก็ควรจะตัดเนื้อร้ายออกไปเสีย ก่อนที่เชื้อโรคจะลุกลาม แพร่ไปตามส่วนอื่นของร่างกาย ทันทีที่สโตรเบลทูลเสนอ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบด้วย เพราะถ้าพูดกันโดยจริงๆ แล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงเสียดาย ดินแดนเหล่านี้มากมายนัก ถ้าจะต้องทรงคิดอย่างหนัก ก็จะเห็นเป็นเพียงแต่ทรงเกรง "การเสียหน้า" เช่นเคยทรงปรารภว่า

....... เราไม่มีความประสงค์อันใด นอกจากที่จะให้หัวเมืองมลายู เป็นพระราชอาณาเขตชั้นนอก ติดกับฝรั่ง อีกประการหนึ่ง เมืองเหล่านี้ปรากฏว่า อยู่ในเขตของไทยจะตกไป แต่อังกฤษเข้ามาบำรุงเรา ก็ไม่ขาดทุนอันใด ชั่วแต่ไม่ได้ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ไม่เป็นราคากี่มากน้อย แต่ยังรู้สึกว่าเป็นการเสียเกียรติยศอยู่..... 
          และได้ทรงชี้แจง ให้สโตรเบลทราบว่า สำหรับกลันตัน และตรังกานูนั้น ฉันไม่รู้สึกว่า มีผลประโยชน์อะไรด้วย ขอให้ท่านจัดการอะไร ไปตามความประสงค์ได้ 
          หลังจากข้อเสนอยกดินแดนมลายูดังกล่าว รัฐบาลสองประเทศ เริ่มเปิดเจรจากันอีกครั้ง และได้นำเรื่องต่างๆ ที่ยังเจรจาคั่งค้างอยู่ มาพิจารณาพร้อมกัน รวม 4 เรื่อง คือ
  1. การโอนรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อังกฤษ 
  2. การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษในประเทศไทย 
  3. การสร้างทางรถไฟสายใต้ 
  4. การยกเลิกปฏิญญาลับ ค.ศ.1897 
...

          ฝ่ายไทยคงต้องการให้เรื่องสร้างทางรถไฟเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว จึงเสนอให้ราห์มันและเกาะลังกาวีแก่อังกฤษ โดยมี
เงื่อนไขว่า อังกฤษจะต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ ที่จะกู้สร้างทางรถไฟ จากอัตราร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 3.75

          เมื่อประสบปัญหานี้ ทางฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ กลับมีความเห็นแตกแยกออกเป็นสองพวก พวกแรกมีเซอร์ จอห์น แอนเดอร์สัน ข้าหลวงใหญ่ประจำสิงคโปร์ เป็นหัวหน้า พวกนี้เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง กับข้อเสนอของไทย เพราะเห็นว่า อัตราดอกเบี้ย ที่ลดลงร้อยละ 1 ส่วน 4 คุ้มค่ากับดินแดนราห์มัน และเกาะลังกาวี ที่อังกฤษจะได้ แต่เพื่อที่จะให้ได้ประโยชน์มากที่สุด แอนเดอร์สัน ขอระแงะ ซึ่งอยู่ติดกับกลันตันเพิ่มขึ้น แต่ฝ่ายนายแพชยิต กลับคัดค้านข้อเสนอนี้อย่างรุนแรงแพชยิตมองไม่เห็นว่า ดินแดนที่ไทยเสนอให้เพิ่มนี้ จะไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร กับเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างทางรถไฟ เพราะเป็นปัญหาคนละประเด็น เขากลับเห็นว่า อังกฤษเสียสละให้ไทยหลายเรื่องแล้ว เช่น เรื่องการที่จะยอมให้คนในบังคับอังกฤษ มาขึ้นศาลไทยแทนศาลกงสุล และการที่อังกฤษ ยอมให้ไทย มีอำนาจสิทธิ์ขาด เหนือเส้นทางรถไฟ ฉะนั้น อังกฤษควรจะได้ราห์มัน และเกาะลังกาวีเพิ่มขึ้นเฉยๆ โดยไม่ต้องเสียอะไรเป็นการตอบแทนดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างทางรถไฟจะต้องคงไว้ในอัตราร้อยละ 4 เช่นเดิม แต่ให้ระงับข้อเรียกร้องขอระแงะ เพราะอาจจะทำให้ไทย ไม่พอใจและยุติการเจรจาได้ 

          รัฐบาลไทยยอมตกลง ตามข้อเสนอของแพชยิต ยกลังกาวีและราห์มันตอนใต้ให้อังกฤษ อาจจะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า ข้อยินยอมต่างๆ ของอังกฤษนั้น คุ้มค่าต่อการตกลงกันโดยสันติ เป็นต้นว่า การยอมรับให้คนในบังคับอังกฤษทั่วประเทศไทย มาขึ้นตรงต่อศาลไทย การสร้างทางรถไฟทางใต้ จากเพชรบุรีลงไปจนจดชายแดนมลายู และที่สำคัญที่สุดคือ การเลิกสัญญาลับระหว่างไทย - อังกฤษ พ.ศ.2440 เพราะตามสัญญานี้ ไทยยอมให้อังกฤษ มีสิทธิ์เหนือดินแดนทางใต้ จากตำบลบางตะพานลงไป จดสุดแหลมมลายู ซึ่งถ้าพิจารณา ในเชิงปฏิบัติ ไทยได้สูญเสียดินแดนทั้งหมดไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 ฉะนั้น ในวันที่ 10 มีนาคม 2451 กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศของไทย และนายราฟ แพชยิต ราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า 
  1. รัฐบาลไทย ยอมยกสิทธิทางการปกครอง และการบังคับบัญชาเหนือดินแดนรับมลายู คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียง ให้แก่อังกฤษ 
  2. การโอนดินแดนบริเวณนี้ จะจัดให้สำเร็จภายใน 30 วัน นับแต่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันแล้ว 
  3. จัดตั้งคณะกรรมการ ทั้งฝ่ายอังกฤษและไทยภายในระยะ 6 เดือน นับแต่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบัน เพื่อทำการปักปันเขตแดนกัน นอกจากนี้ คนในบังคับไทย ที่เคยอยู่อาศัยในดินแดนดังกล่าวแล้ว ถ้าต้องการเป็นคนไทยต่อไป ต้องย้ายกลับไปอยู่ในเขตไทยภายในเวลา 6 เดือน และอังกฤษยอมรับว่า บุคคลเหล่านั้น ยังมีสิทธิเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในดินแดนเหล่านั้นอยู่ หนังสืออนุญาตต่างๆ ที่ทางรัฐบาลไทยออกให้ไว้ก่อนวันเซ็นสัญญา อังกฤษก็ยังคงยอมรับสิทธิอันนั้นต่อไป 
  4. รัฐบาลอังกฤษยอมรับว่าหนี้สินที่รัฐต่างๆ นั้น มีอยู่ต่อรัฐบาลไทย รัฐบาลสหพันธรัฐมลายูจะชดใช้ให้แทน 
  5. อำนาจศาลต่างประเทศฝ่ายไทย ตามข้อ 8 ของหนังสือสัญญาปี ค.ศ.1883 จะยังคงใช้อยู่กับคนในบังคับอังกฤษ ที่เป็นชาวเอเชีย และจดทะเบียน ก่อนวันลงนามในสัญญา คือ คนเหล่านี้จะย้ายขึ้นศาลไทย มีตุลาการแล้วแต่ไทยจะแต่งตั้ง แต่ในเวลาพิจารณาคดี กงสุลอังกฤษต้องไปนั่งฟังอยู่ด้วย และในกรณี ที่คนในบังคับอังกฤษ เป็นจำเลย กงสุลอาจพิจารณา มีสิทธิถอนคดีได้ ส่วนคนในบังคับอื่นที่จดทะเบียน หลังวันลงนามในสัญญา จะอยู่ในอำนาจศาลไทย คนในบังคับเหล่านี้ จะเปลี่ยนไปใช้ศาลไทยทั้งหมด อย่างเต็มที่ เมื่อไทยมีประมวลกฎหมาย ลักษณะอาญา กฎหมายลักษณะแพ่งและการพาณิชย์ กฎหมายลักษณะวิธีพิจารณาคดี และกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญจัดตั้งศาล 
  6. คนในบังคับอังกฤษ จะได้กรรมสิทธิ์ เหมือนคนพื้นเมือง เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ต้องเสียภาษีอากรต่างๆ เหมือนคนไทย เว้นแต่ไม่ต้องการเป็นทหาร นอกจากนั้น ไทยยังทำสัญญาปักปันเขตแดน และสัญญาเรื่องอำนาจทางการศาล แยกเป็นพิเศษด้วย

          ในสัญญาฉบับนี้ มีภาคผนวก ว่าด้วยการเลิกปฏิญญาลับ ค.ศ.1897 และว่าด้วยการสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยที่รัฐบาลอังกฤษให้เงินกู้ ในการก่อสร้าง ภายใต้เงื่อนไขว่า กรมรถไฟใต้ ในความควบคุมของชาวอังกฤษ จะต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง 

          หลังการลงนาม แพชยิต เขียนไปรายงานเซอร์ เอ็ดเวิด เกรย์ (Sir Edward Grey) รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายรัฐสภาที่ลอนดอนว่า

          "ดินแดนที่เราได้ครั้งนี้ มีอาณาเขตกว้างขวาง อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและประชากร เป็นดินแดนที่มีคุณค่า มากกว่ารัฐเขมร ที่ไทยเพิ่งยกให้แก่ฝรั่งเศส ในเร็วๆ นี้" และอีกตอนหนึ่ง 

          "บัดนี้ อาณาเขตของอังกฤษ ติดต่อกับสตูลทางตะวันตก อำเภอสายบุรีทางตะวันออก และเรากำลังสร้างทางรถไฟขึ้นไปทางเหนือรัฐมลายู แน่นอนเหลือเกินว่า หัวเมืองชายแดนไทย ซึ่งประกอบด้วยปัตตานี และระแงะ จะค่อยๆ ตกอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษ และอังกฤษ จะเข้าไปมีผลประโยชน์ ทางการค้าได้อย่างง่ายดาย"

การยกดินแดนมลายู ให้แก่อังกฤษนี้ ทางไทยไม่ได้แจ้งให้สุลต่าน เจ้าของรัฐเหล่านั้นทราบเลย ทำให้สุลต่านโกรธเคืองมาก ปรากฏว่า สุลต่านไทรบุรี เคยปรารภกับเอเธอร์ ซี. อดัมส์ ที่ปรึกษาทางการคลัง ประจำรัฐไทรบุรีว่า "ไทยมีสิทธิที่จะยกหนี้ไปให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่มีสิทธิจะยกลูกหนี้ให้ใคร" และในตอนหนึ่ง ได้ปรารภว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อ ซึ่งมี่พันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้" อันที่จริง ระหว่างที่ไทย และอังกฤษ กำลังเจรจาปรึกษาเงื่อนไข สนธิสัญญาอยู่นั้น รัฐไทรบุรีได้ทราบข่าวมา แต่ไม่ชัดเจน จึงได้ส่งจดหมาย มาถามข้อเท็จจริง 
จากรัฐบาลไทยอีกทีหนึ่ง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงนาพระทัยว่าจะทรงตอบเช่นไร

          นโยบายต่างประเทศไทยแต่โบราณออกแนวนี้อยู่แล้ว ถ้าเสียดินแดนก็ต้องได้ผลประโยชน์คืนมา มีแต่ตอน 2505 นั่นแหละที่เสียเฉยๆ ไม่ได้อะไรเลย ไทยแค่อยากให้ชาวโลกยอมรับ ดินแดนที่เป็นหัวเมืองในสมัยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะเสียไป ดันมาปลุกระดมกันในสมัยนี้อย่างกับสมัยก่อนโดนบังคับให้เสียดินแดนทุกครั้ง เอาไปแลกลดดอกเงินกู้อังกฤษเพื่อสร้างทางรถไฟเฉยๆ แบบนี้ ไม่เห็นว่าอังกฤษเอาทหารมาบีบไทยตรงไหน