การสูญเสียครั้งที่ 10

การเสียดินแดนครั้งที่ ๑๐



           ครั้งที่ ๑๐ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อาณาจักรล้านช้าง หรือประเทศลาว) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ ๓ ตุลาคม ๒๔๓๖ พื้นที่ ๑๔๓,๐๐๐ ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นของไทยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร ต้องเสียให้กับฝรั่งเศสตามสัญญาไทยกับฝรั่งเศส เท่านั้นยังไม่พอ ฝรั่งเศสเรียกเงินจากไทย ๑ ล้านบาท เป็นค่าเสียหายที่ต้องรบกับไทย เสียค่าประกันว่าไทยต้องปฏิบัติตามสัญญาอีก ๓ ล้านบาท และยังไม่พอ ฝรั่งเศสได้ส่งทหารมายึดเมืองจันทบุรีและตราด ไว้ถึง ๑๕ ปี นับว่าเป็นความเจ็บปวดที่สุดของไทยถึงขนาดที่เจ้านายฝ่ายในต้องขายเครื่อง แต่งกายเพื่อนำเงินมาถวาย ร.๕ เป็นค่าปรับ ร.๕ ต้องนำถุงแดง(เงินพระคลังข้างที่) ออกมาใช้

การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง           วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา เรือปืนฝรั่งเศส ๒ ลำ ชื่อแองคังสตังต์ ( Inconstant ) กับโกแมต ( Comete ) ที่มีนาวาโทโบรี ( Bory ) เป็นผู้บังคับการ ได้แล่นมาถึงสันดอน ปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือเมล์ไซง่อนนำร่องชื่อชองบาตีสต์เซ(Jean Baptiste Say )

           เวลา ๑๘.๓๐ นาฬิกา เมื่อเรือรบฝรั่งเศสได้แล่นมาถึงร่องน้ำใกล้ป้อมพระจุลจอมเกล้าฝ่ายไทยได้ยิงเตือนมิให้เรือล้ำเข้ามา แต่ก็ไร้ผล การสู้รบของทั้งสองฝ่ายจึงได้เกิดขึ้นอยู่เป็นเวลานานกว่า ๒ ชั่วโมงครึ่ง ต่างบาดเจ็บล้มตายและเสียหายทั้งสองฝ่าย

           เวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา ปรากฏว่าเรือฝรั่งเศสทั้ง ๒ ลำ สามารถตีฝ่าเข้ามากรุงเทพฯได้ และจอดอยู่ตรงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ในขณะที่เรือนำร่องถูกยิงจม

           ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ทางฝรั่งเศสโดยนายปาวี อุปทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ได้ยื่นคำขาดรวม ๖ ข้อ ให้ทางไทยปฏิบัติตามภายใน ๔๘ ชั่วโมง พร้อมกับประกาศจะปิดล้อมอ่าวไทย ฝรั่งเศสโดยพลเรือตรีอาน ( Admiral Humann ) ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเรือฝรั่งเศสในตะวันออกไกล ได้ประกาศปิดล้อมอ่าวไทยต่อมาในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

           วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นบันทึกปารีส ( ( Paris Note ) ให้แก่ไทยเป็นใจความว่า รัฐบาลไทยตัดสินใจล่าช้า จึงจะยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้จนกว่ากองทหารไทยที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจะถอนไปเสร็จสิ้นโดยเรียบร้อย

           เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่าวิกฤติการณ์ปากน้ำ ( Paknam Incident ) กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒