การสูญเสียครั้งที่ 9

การเสียดินแดนครั้งที่ ๙



           ครั้งที่ ๙ ฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน ให้กับประเทศอังกฤษในสมัย รัชกาลที่ ๕ ในห้วงปี ๒๔๓๓ เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจและทรัพยากร อันอุดมด้วยดินแดนผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ยิ่ง

           การเสียดินแดนใน ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕) สาเหตุที่อังกฤษเข้ายึดครอง "รัฐชายขอบล้านนา"บริเวณหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า และหัวเมืองกะเหรี่ยงตะวันออกเป็นดินแดนรวม ๑๓ หัวเมือง (บริเวณที่เป็นดินแดนของสหภาพพม่าในปัจจุบัน) อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เพราะความสำคัญทางเศรษฐกิจ ของดินแดนดังกล่าว ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้สัก นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุมาจากปัญกากรณีพิพาทเรื่องป่าไม้และปัญหาโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองชายแดน ที่ทำให้รายได้ของอังกฤษจากการ เก็บภาษีป่าไม้ที่เมืองมะละแหม่งลดลง อังกฤษถือว่าเป็นการเสียผลประโยชน์มาก และประการสุดท้ายเป็นเพราะเชียงใหม่ ไม่สามารถควบคุมดูแลหัวเมืองชายแดนฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำสาละวินได้ ส่วนรัฐบาลกลางเข้าไปดูแลและแก้ไขสถานการณ์ ไม่ทันท่วงที ขณะที่อังกฤษแทรกอำนาจลงไปรวดเร็วกว่า ด้วยสาเหตุข้างต้น เปิดโอกาสให้อังกฤษยึดครองดินแดนชายขอบ ล้านนา

           ความต้องการเข้าครอบครองดินแดน ๑๓ หัวเมือง เริ่มขึ้นหลังจากที่อังกฤษได้ครอบครองพม่าทั้งประเทศแล้วใน พ.ศ.๒๔๒๘ โดยอังกฤษได้ทำการปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ทางด้านตะวันออกของพม่าที่ก่อความวุ่นวายตามบริเวณชายแดน ครั้นอังกฤษ สามารถควบคุมได้ถึงหัวเมืองชายแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินแล้ว อังกฤษก็ได้เห็นความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของ บริเวณดังกล่าวซึ่งเต็มไปด้วยป่าไม้สัก อังกฤษจึงอ้างสิทธิของตนเข้าครอบครอง โดยใช้วิธีอ้างว่าดินแดน ๑๓ หัวเมืองนี้ พม่าเคยมีสิทธิครอบครองมาก่อน ส่วนสยามก็อ้างสิทธิว่าบริเวณชายขอบนั้นเป็นดินแดนของล้านนามาร้อยปีเศษแล้ว โดยยกข้อความในพงศาวดารที่กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ยกทัพปราบหัวเมืองต่าง ๆ ประกอบ และอ้างว่า ดินแดนฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำสาละวินเป็นของเชียงใหม่ ตามข้อตกลงระหว่างพระเจ้ากาวิละแห่งเมืองเชียงใหม่กับเจ้าเมืองยางแดง ที่ถือเอาแม่น้ำ สาละวินเป็นเขตแดน มีเขาควายที่ยึดถือไว้คนละซึกเป็นหลักฐานการแบ่งเขตแดน

           อย่างไรก็ตาม ระยะแรกที่ทำสัญญาเชียงใหม่ ฉบับ พ.ศ.๒๔๑๖ และฉบับ พ.ศ.๒๔๒๖ นั้น อังกฤษก็ยอมรับว่าเขตแดนของ ไทยจดฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน แต่ต่อมาอังกฤษต้องการยึดดินแดน ๑๓ หัวเมือง อังกฤษกลับอ้างว่าไม่ยอมรับ ประเพณีการแบ่งเขตแดนที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรที่ไทยอ้าง และยังอ้างว่ารัฐบาลสยามไม่ได้มีอำนาจปกครองเมืองต่าง ๆ ตามชายแดน ซึ่งราษฎรเป็นชาติพม่าและเงี้ยวเลย แท้จริงแล้วในพ.ศ.๒๔๒๗ เมื่อกรมหมื่นพิชิตปรีชากรเข้ามาปฏิรูป เชียงใหม่ได้เข้าไปอ้างสิทธิ์ และส่งกำลังไปรักษาตามเมืองชายแดนที่มีปัญหา แต่รัฐบาลสยามไม่ดำเนินการต่อเนื่อง ประกอบกับท่าทีอังกฤษ หลังจากยึดครองพม่าตอนเหนือ (พ.ศ.๒๔๒๘) แล้วได้ให้ความสนใจกับหัวเมืองเงี้ยวมาก ถึงกับทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอย่างชัดเจนใน พ.ศ.๒๔๓๑ ว่า

           "...คอนแวนต์ของสมเด็จพระนางเจ้าได้มีความประสงค์แล้วที่จะเอาหัวเมืองทั้งห้านี้ไว้ในความปกครองของอังกฤษ เหตุนั้นจึงมีคำสั่งแล้ว..."

ภายใต้ความต้องการของอังกฤษ ในที่สุดรัฐบาลสยามก็เป็นฝ่ายยอมยุติยกหัวเมืองเงี้ยวและกะเหรี่ยงให้อังกฤษตามความใน ประกาศของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยดังนี้

           "...ด้วยมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า แนวพระราชอาณาเขตต่อกับเมืองพม่า ของอังกฤษซึ่งเป็นข้อโต้เถียง ยังไม่ตกลงกันมาแต่ก่อนนั้น บัดนี้ได้ปฤกษาปรองดองกันกับราชาธิปไตยฝ่ายอังกฤษ ยอมยกเมืองเชียงแขงแลหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเมืองเชียงแสนถวายไว้ในพระราชอาณาเขต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหัวเมืองเงี้ยวและกะเหรี่ยง ยางแดง คือที่เรียกว่า เมืองแจะ เมืองใหม่ เมืองทา เมืองจวด เมืองหาง เมืองต่วน เมืองสาด เมืองยวม เมืองตูม เมืองกวาน เมืองไฮ บ้านฮ่องลึก เมืองโก ให้เป็นของอังกฤษ ตกลงกันดังนี้... "

           การเสียดินแดนดังกล่าวให้อังกฤษนั้น เป็นเพียงดินแดนที่อำนาจรัฐล้านนามีอยู่อย่างเบาบางและไม่สม่ำเสมอ เพราะเป็นรัฐ ชายขอบที่มิใช่ดินแดนล้านนา ส่วนดินแดนล้านนาที่แท้จริงยังอยู่ในเขตสยามประเทศ