การสูญเสียครั้งที่ 14

การเสียดินแดนครั้งที่ ๑๔



          ครั้งที่ ๑๔ เขาพระวิหาร ให้กับเขมรเมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ พื้นที่ ๒ ตร.กม. ในสมัย ร.๙ ตามคำพิพากษาของศาลโลก ให้เขาพระวิหารตกเป็นของเขมร เนื่องมาจากหลักฐานสำคัญของเขมร ในสมัยที่เป็นของฝรั่งเศส เมื่อรู้ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเขาพระวิหาร จึงไปก่อนแล้วชักธงชาติฝรั่งเศสรับเสด็จ แล้วจึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จึงนำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงต่อศาลโลก ด้วยเสียง 9 ต่อ 3

          พ.ศ. 2550 กัมพูชาเสนอองค์การยูเนสโก ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ยังไม่มีข้อสรุป

          18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นาย นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว ร่วมกับ นายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

          24 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ทางการกัมพูชาปิดปราสาทพระวิหารชั่วคราว หวั่นผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าไปทำร้ายชาวกัมพูชาในบริเวณใกล้เคียง

          28 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติ การดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

          8 กรกฎาคม พ.ศ 2551 องค์การยูเนสโก ประกาศรับปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลก

เหตุผลที่ไทยเสียปราสาทเขาพระวิหารให้เขมร 2505

สรุปเหตุผล กรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร 2505 ไทยแพ้คดีในศาลโลก
          คําร้องของกัมพูชาที่สำคัญที่ให้ศาลโลกวินิจฉัยคือประเด็นที่ว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร การนำเสนอพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนั้นมีดังนี้ 

          ฝ่ายไทยเสนอว่า หากพิจารณาตามสนธิสัญญาที่สยามทำกับประเทศฝรั่งเศส (ขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา) เมื่อปี ค.ศ.1904 ซึ่งตามสนธิสัญญาจะใช้ "สันปันน้ำ" (watershed) ปราสาทพระวิหารจะอยู่ฝั่งไทย แต่หากพิจารณาตามแผนที่ ปราสาทพระวิหารจะอยู่ฝั่งกัมพูชา 

          ขออธิบายตรงนี้เลยว่าหลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาทวิภาคีในปี ค.ศ.1904 ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งคณะกรรมการผสมขึ้น และไม่นานนัก คณะกรรมการชุดนี้ก็มิได้ทำงานอีกต่อไป ต่อมา ฝ่ายไทยได้ร้องขอให้ประเทศฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ขึ้น ข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนที่เจ้าปัญหาฉบับนี้ มีดังนี้ 

          ประการแรก แผนที่นี้เป็นการร้องขอจากฝ่ายไทยให้ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้น แผนที่นี้ทำขึ้นที่กรุงปารีส การที่ประเทศร้องขอให้ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นนั้นเป็นเพราะว่าในขณะนั้น ประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการทำแผนที่ 

          ประการที่สอง การปักปันเขตแดนแล้วลงมาตราส่วนลงในแผนที่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของประเทศฝรั่งเศส โดยที่ฝ่ายไทยไม่มีส่วนร่วมเลย 

          ประการที่สาม การทำแผนที่นี้ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการผสมแต่อย่างใด ในประเด็นนี้ผู้พิพากษาฟิสต์มอริสซึ่งเป็นหนึ่งในองค์คณะกล่าวว่า คณะกรรมการผสมไม่เคยแม้แต่จะ "เห็น" แผนที่นี้ อย่าว่าแต่ "รับรอง" เลย เป็นการร้องขอฝ่ายเดียวจากรัฐบาลไทย 

          ประการที่สี่ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นเหตุผลสำคัญที่ศาลโลกวินิจฉัยให้ประเทศไทยแพ้ก็คือ แม้ประเทศไทยจะไม่มีส่วนในการทำแผนที่ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยคัดค้านหรือประท้วงเกี่ยวกับความถูกต้องของแผนที่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีโอกาสอยู่หลายครั้งที่จะทักท้วงหรือประท้วงถึงความคลาด เคลื่อนหรือความผิดพลาดของแผนที่ 

          โอกาสที่จะประท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ เช่น กรณีการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1925-1937 แต่ไทยก็มิได้ทักท้วง 

          ซึ่งศาลโลกเห็นว่า การนิ่งเฉยของประเทศไทยเป็นเวลานานเท่ากับเป็นการยอมรับความถูกต้องของแผนที่แล้ว จะมาปฏิเสธในภายหลังนั้น ไม่อาจกระทำได้ เป็นการปิดปากประเทศไทยว่าจะมาปฏิเสธความผิดพลาดของแผนที่ไม่ได้ 

          ยิ่งไปกว่านั้น ทางการของไทยเองยังได้ทำแผนที่ใช้ขึ้นเองอีกด้วยในปี ค.ศ.1937 โดยแผนที่ที่เจ้าหน้าที่ของไทยเป็นผู้จัดทำ ได้แสดงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ประเด็นนี้ไทยอ้างว่า แผนที่ที่ไทยทำขึ้นเองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการทหารเป็นการภายในเท่านั้น แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของไทยในประเด็นนี้ 

          เหตุผลประการหนึ่งที่ศาลโลกเห็นว่า ประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือที่ตั้งปราสาทพระวิหารก็คือ การที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ไปเยือนกึ่งเป็นทางการที่ปราสาทพระวิหาร ในครั้งนั้น กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งกองทหารเกียรติยศรับการเสด็จอย่างเต็มที่ และยังชักธงชาติของประเทศฝรั่งเศสด้วย 

          ซึ่งศาลโลกเห็นว่า เท่ากับประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารว่าเป็นของกัมพูชา (ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส) อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ผู้พิพากษาศาลโลกท่านหนึ่งคือ ท่านเวลลิงตัน คู ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างน้อยได้ทำความเห็นแย้งว่า ในเวลานั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทย อีกทั้งพระองค์ยังตรัสว่า การมาเยือนปราสาทพระวิหารนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง 

          นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ไทยแพ้คดีอาจเป็นผลมาจากการตั้งรูปคดีที่ผิดพลาดมา ตั้งแต่ต้น แทนที่ประเทศไทยจะปฏิเสธความผิดพลาดของแผนที่ ควรรับประเด็นเรื่องแผนที่ แล้วยกข้อต่อสู้ว่า ในกรณีที่ข้อความในสนธิสัญญาที่ให้ใช้ "สันปันน้ำ" แย้งกับ "แผนที่" ในกรณีนี้ให้ถือว่าข้อความในสนธิสัญญามีค่าบังคับเหนือกว่า 

          ซึ่งอนุสัญญาแวร์ซายส์ มาตรา 29 ก็มีข้อความทำนองนี้ อีกทั้งก็มีคดีที่ศาลตัดสินให้ความน่าเชื่อถือของสนธิสัญญายิ่งกว่าแผนที่ 

จริงหรือที่ "การนิ่งเฉย" หรือ "กฎหมายปิดปาก" มิใช่เป็นหลักกฎหมาย 

          หลังจากที่ไทยแพ้คดี นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวลานั้นกล่าวทำนองว่าศาลโลกนำหลักกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมาตัดสินคดี ที่น่าคิดก็คือ ทำไมทนายฝ่ายไทยไม่ทราบ หรือว่า "หลักกฎหมายปิดปาก" หรือ "การนิ่งเฉย" นั้น ศาลโลกหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเคยนำมาใช้หลายคดีแล้ว 

          อีกทั้งนักกฎหมายระหว่างประเทศก็ยังได้เขียนบทความเรื่อง "หลักกฎหมายปิดปากที่ใช้ในศาลระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ของหลักกฎหมาย ดังกล่าวกับการนิ่งเฉย" (Estoppel before Internationals and Its Relation to Acquiescence) เขียนโดยนักกฎหมายระหว่างประเทศชื่อ Bowett ลงในวารสาร British Yearbook of International Law ปี ค.ศ.1957 และบทความชื่อ "หลักกฎหมายปิดปากในกฎหมายระหว่างประเทศ" โดย Mcgibborn ในวารสาร International and Comparative Law Quarterly ปี 1958 ซึ่งตีพิมพ์ก่อนที่ศาลโลกจะตัดสินประมาณ 3-4 ปี 

          ไม่อาจคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าฝ่ายไทยได้เคยอ่านบทความนี้หรือไม่ แต่ไม่ว่าฝ่ายไทยจะได้เคยอ่านบทความนี้หรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ทนายความของฝ่ายไทยน่าจะย่อมรู้ถึงหลักกฎหมายปิดปากเป็นอย่างดี 

          เพราะหลักว่าด้วย "การถูกการตัดสิทธิ" (Preclusion) หรือ "การนิ่งเฉย" อาจเทียบได้หรือมีผลเท่ากันกับ "หลักกฎหมายปิดปาก"อันเป็นหลักกฎหมายอังกฤษ หรือแองโกลแซกซอน